วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568

โอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทยสู่ตลาดโลก ฟังเทรนด์และทิศทางตลาด Hospitality

โอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทยสู่ตลาดโลก

ฟังเทรนด์และทิศทางตลาด Hospitality 

โดยผู้เชี่ยวชาญรับเชิญจากอิตาลี Matteo Ragni

          “STYLE Bangkok 2025” กลับมาแล้ว ในการเป็นศูนย์รวมเทรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ นักออกแบบ ผู้ซื้อ และผู้ที่สนใจจากทั่วโลก ด้วยสินค้าจากผู้ประกอบการกว่า 400 ราย ร่วม 700 คูหา พร้อมไฮไลต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยในปีนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญชื่อดังชาวอิตาเลียนมาบรรยายในช่วงสัมมนาพิเศษถึงเทรนด์และโอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทยในตลาดโลก ในวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี 

            กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาในหัวข้อ  “New Trends in Contemporary Design: Opportunities and Insights for Thai Entrepreneurs in a Global Market” โดย Mr. Matteo Ragni ดีไซเนอร์ผู้เชี่ยวชาญชาวอิตาเลียน จัดที่เวทีกลาง ฮอลล์ 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 10.30-12.00 น. 

           Mr. Matteo Ragni คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการออกแบบมากว่า 20 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล Compasso d’Oro Award ในวัย 29 ปี  ทำงานเป็นทั้งดีไซเนอร์และครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ในเวลาเดียวกัน โดยตั้งคำถามต่อประเด็นของฟังก์ชั่นกับความเป็นนวัตกรรม ปัจจุบันได้ไปบรรยายความรู้ ณ ที่ต่างๆหลายแห่งทั่วโลก

           Mr. Matteo เป็นที่ปรึกษาโครงการ Host & Home ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการพัฒนาสินค้า และเจาะตลาด Hospitality ในอิตาลีและในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีชื่อเสียงที่ดีในกลุ่มธุรกิจ โรงแรมและที่พักอาศัย โดยนำผู้ประกอบการไทย กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านและโรงแรม และกลุ่มเคหะสิ่งทอ เข้าร่วมพัฒนาสินค้าเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำผู้ประกอบการไปจัดแสดงยังงาน Salone Del Mobile ซึ่งเป็นแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ ของตกแต่งบ้านระดับโลก ที่จัดคู่ขนานไปกับงาน Milan Design Week ทั้งสองงาน เป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงด้านการนำเสนอสินค้าที่เน้นการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลก รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ รวมทั้งสินค้าเพื่ออนาคต โครงการ Host & Home เป็นโครงการต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการ และได้รับการพัฒนาสินค้าตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญแล้วมากมาย 

         สินค้าไทยได้รับการตอบรับจากผู้จัดจำหน่าย รีสอร์ต โรงแรม นักออกแบบ ธุรกิจเรือยอร์ช ฯลฯ เป็นอย่างดี รวมถึงมียอดสั่งซื้อภายใน 1 ปีหลายสิบล้านบาท  เนื่องด้วยสินค้าไทยมีเอกลักษณ์ ดีไซน์ทันสมัย สินค้ามีความหลากหลาย และสามารถใช้งานได้จริง มีการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ ให้ความสำคัญกับวัสดุที่ใช้ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความยั่งยืนตามแนวโน้มเรื่อง Sustainability ที่ตลาดยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

           อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 70 ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่น่าจับตามอง เนื่องจากยังคงมีโอกาสเติบโตอีกมากตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังมีความเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน อาทิ อุตสาหกรรมไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมพลาสติก ฯลฯ ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น

            มาร่วมอัพเดทเทรนด์และโอกาสของเฟอร์นิเจอร์ไทยในตลาดยุโรปและในตลาดโลก ในสัมมนาพิเศษ “New Trends in Contemporary Design : Opportunities and Insights for Thai Entrepreneurs in a Global Market” โดย Mr. Matteo Ragni ในงาน “STYLE Bangkok 2025” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2568 สำรองที่นั่งสัมมนาฟรี ที่ https://forms.gle/11udo1D5gZB12jfL9 หรือชมรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.stylebangkokfair.com 


                                                                                                             

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2568

นิตยสาร BUSINESS+ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีมอบรางวัล THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2025

 นิตยสาร BUSINESS+ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

จัดพิธีมอบรางวัล THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2025 

ยกย่ององค์กรธุรกิจที่มีความเป็นเลิศ

         นิตยสาร BUSINESS+ โดย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีมอบรางวัล "THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2025" เข้าสู่ปีที่ 13 ภายใต้แนวคิด “Beating the Unpredictable : เอาชนะทุกความท้าทายที่ไม่อาจคาดเดาได้” รางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้แก่บริษัทและองค์กรที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมและโดดเด่นในแต่ละด้าน มีรางวัลทั้งหมด 16 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลในประเภทอุตสาหกรรม 9 รางวัล และ 7 รางวัลในประเภทความเป็นเลิศ  โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล และให้เกียรติปาฐกถาพิเศษในงาน พร้อมด้วย รศ. ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล รองอธิการบดีอาวุโสสายงานธุรกิจองค์กร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และท่านผู้บริหารองค์กรที่ได้รับรางวัลเข้าร่วมงาน โดยพิธีมอบรางวัลจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจขององค์กรที่ได้รับรางวัล ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

           นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานมอบรางวัล Thailand Top Company Awards 2025 ว่า "ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสจัดงาน Thailand Top Company Awards 2025 เพื่อประกาศเกียรติคุณและรางวัลแห่งความภาคภูมิใจให้แก่สุดยอดองค์กรที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดของประเทศ" โดยงานนี้เป็นปีที่ 13 ที่นิตยสาร BUSINESS+ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด "Beating the Unpredictable: เอาชนะทุกความท้าทายที่ไม่อาจคาดเดาได้"

             นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ กล่าวเสริมอีกว่า "ในปัจจุบันสภาวะโลกร้อน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก การปรับกลยุทธ์ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารองค์กรต่างๆ" 

            โอกาสนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัล Thailand Top Company Awards 2025 นี้ จะเป็นกำลังใจให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต"

             รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล รองอธิการบดีอาวุโส สายงานธุรกิจองค์กร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  การจัดงานพิธีมอบรางวัล "THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2025" ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและนิตยสาร BUSINESS+ โดย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันคัดเลือกสุดยอดองค์กรธุรกิจไทยที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมในแต่ละกลุ่มบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม

              มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจของประเทศและระดับอาเซียน มุ่งเน้นในการสร้างผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และนักบริหารธุรกิจที่มีคุณภาพ และพร้อมรับมือกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้บริหารที่มีคุณธรรมจริยธรรมและสามารถขับเคลื่อนองค์กรและประเทศได้อย่างยั่งยืน  

                สำหรับรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล “THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2025”  ได้แก่

รางวัลประเภทอุตสาหกรรม 

1. อุตสาหกรรมประกันชีวิต ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 

2. อุตสาหกรรมประกันวินาศภัย ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

3. อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด

4. อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เรซซิเด้นซ์ จำกัด

5. อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล

6. อุตสาหกรรมขนส่ง และโลจิสติกส์ ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

7. อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)

8. อุตสาหกรรมจัดจำหน่าย ได้แก่ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

9. อุตสาหกรรมธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ประเภทความเป็นเลิศ 

10. BEST CUSTOMER EXPERIENCE AWARD ได้แก่ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด 

11. BEST FINANCIAL SERVICES OF THE YEAR ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ประเทศไทย 

12. BEST TRADE SERVICE BANK OF THE YEAR ได้แก่ Bank of China (Thai) Public Company Limited

13. CUSTOMER FOCUS AWARD ได้แก่ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)

14. FAST-GROWING COMPANY AWARD ได้แก่ บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

15. MOST ADMIRED BRAND AWARD ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

16. RISING STAR ได้แก่ VDESIGN HAIR BY VIBHAVADI


วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

ปลดล็อกความยากจน! บ้านหนองเขียว จ.แม่ฮ่องสอน เดินหน้าสู่เกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ปลดล็อกความยากจน! บ้านหนองเขียว จ.แม่ฮ่องสอน   

เดินหน้าสู่เกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

       โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่บ้านหนองเขียวและกลุ่มบ้านบริวาร ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำลังก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทางของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.)โครงการนี้มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม สู่ระบบเกษตรอินทรีย์และพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สร้างรายได้ที่มั่นคง พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


       โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่บ้านหนองเขียวและกลุ่มบ้านบริวาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการดำเนินงานโดย สวพส. ซึ่งเริ่มต้นจากการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน พบว่าประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรที่ยั่งยืน ทำให้รายได้ไม่มั่นคงและต้องพึ่งพาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีต้นทุนสูงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ สวพส. จึงร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานในการจัดหาน้ำสะอาด พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ผักอินทรีย์ กาแฟ อะโวคาโด และเสาวรสหวาน แทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ โดยมุ่งหวังให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในระยะยาว

       หนึ่งในความก้าวหน้าสำคัญของกิจกรรมการเพิ่มรายได้ระยะสั้น คือ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือน จำนวน 30 โรงเรือน บนพื้นที่เพียง 12 ไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 2,880,000 บาทต่อปี ในทางกลับกัน หากใช้พื้นที่เดียวกันนี้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะให้ผลตอบแทนเพียง 72,000 บาทต่อปี และหากต้องการรายได้เท่ากัน เกษตรกรต้องใช้พื้นที่ถึง 480 ไร่ ตัวเลขเหล่านี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า เกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า สร้างรายได้ที่มั่นคง ลดความเสี่ยง และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


          นายพัลลภ ปัญญา นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่บ้านหนองเขียว และกลุ่มบ้านบริวาร กล่าวว่า การพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงตามแนวทางของโครงการหลวง ไม่ได้ช่วยแค่ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการใช้พื้นที่ ลดการเผา และลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่อีกด้วยที่สำคัญคือ เกษตรกรมีทางเลือกในการทำอาชีพมากขึ้น โดยมีทั้งพืชระยะสั้น อย่างผักอินทรีย์ที่ปลูกในโรงเรือน พืชระยะกลาง เช่น เสาวรสหวาน และถั่วลายเสือ ส่วนพืชระยะยาวก็มีอะโวคาโด กาแฟอราบิก้า และแมคคาเดเมีย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีหลายด้าน ในแง่เศรษฐกิจ เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่อง ในแง่สังคม ก็เกิดการรวมกลุ่มกัน ทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยมีคนในชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ และในแง่สิ่งแวดล้อม การปลูกไม้ผลและกาแฟที่ใช้พื้นที่น้อย ทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกด้วย

        นายบรมัติ ทิพกนก ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการณ์สหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงหนองเขียว จำกัด เพื่อรวมกลุ่มเกษตรกรในโครงการได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านปัจจัยการผลิตและวัสดุอุปกรณ์การเกษตร บริหารจัดการด้านการตลาด โดยการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด ทั้งตลาดตามข้อตกลงและตลาดออนไลน์ ทั้งในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกระจายออกสู่ตลาดต่างจังหวัด อีกทั้งได้ส่งเสริมสนับสนุนในการออมทรัพย์ของเกษตรกรสมาชิก รวมถึงการผลักดันให้เกษตรกรสมาชิกมีส่วนร่วมในทุกมิติ

          นางสาวรวีวรรณ ชลธารเสาวรส ประธานกลุ่มผู้ปลูกผักอินทรีย์บ้านหนองเขียว กล่าวว่า ระบบการจัดการภายในกลุ่มเกษตรกรได้รับการออกแบบให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรแต่ละคนมีหน้าที่เฉพาะ ตั้งแต่การตัด คัดเลือก ซึ่งขั้นตอนการแพ็คบรรจุผลิตภัณฑ์มีการระบุชื่อเกษตรกร ชนิดของผักที่ปลูก พื้นที่เพาะปลูก และน้ำหนักของผลผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้ การบริหารจัดการแบบรวมกลุ่มยังช่วยให้สมาชิกสามารถแบ่งปันองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง


         การปรับใช้แนวทางโครงการหลวงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาที่บ้านหนองเขียวช่วยให้เกษตรกรเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูง ลดการเผา และแก้ปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จนี้เกิดจากการสนับสนุนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถนน สัญญาณสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และคุณภาพดิน-น้ำ พร้อมขยายองค์ความรู้ไปยังพื้นที่สูงอื่น ๆ เพื่อสร้างระบบเกษตรที่ยั่งยืน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรบนพื้นที่สูงในระยะยาว



โอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทยสู่ตลาดโลก ฟังเทรนด์และทิศทางตลาด Hospitality

โอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทยสู่ตลาดโลก ฟังเทรนด์และทิศทางตลาด Hospitality  โดยผู้เชี่ยวชาญรับเชิญจากอิตาลี Matteo Ragni           “STYLE Bangkok 202...